“ดร.พิสิฐ” ห่วง พรก. ลดดอกเบี้ย อาจไม่ครอบคลุม ธกส. – บัตรเครดิต



27 พ.ค.2564 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการพิจารณา พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ที่มีการเสนอเพื่อปรับปรุงส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนด และที่ผิดนัดชำระจากอัตราคงที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 3 ต่อปี และร้อยละ 5 ต่อปีตามลำดับนั้น ว่า หลังจากที่ได้พินิจพิเคราะห์เนื้อหาในกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งการที่ นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ได้อภิปรายไปซึ่งได้กล่าวถึงผลของกฎหมายว่ามีผลต่อประชาชนไม่มาก

ดังนั้น ดร.พิสิฐ จึงมีความเห็นเพิ่มเติมในมาตรา 3 ของ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ที่ให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 3 จากเดิมร้อยละ 7.5 และตามที่ นายเกียรติ ได้อภิปรายไปแล้วว่า ทุกวันนี้สถาบันการเงินจะมีการทำนิติกรรมระบุดอกเบี้ย หรือระบุดอกเบี้ยผิดนัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ก็จะครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ไม่มีนิติกรรมกับธนาคารซึ่งมีจำนวนน้อยมาก

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วยยืนยันว่า การปรับลดดอกเบี้ยเป็น 3% ก็ดี หรือดอกเบี้ยผิดนัด 5% ก็ดีนี้ ได้หมายรวมถึงลูกหนี้ธนาคาร ธกส. ด้วยหรือไม่ เพราะมีพี่น้องเกษตรกรจำนวนมากที่กู้เงินจากธนาคารดังกล่าวที่กำลังเดือดร้อน ซึ่งหากรวมถึงธนาคาร ธกส. ด้วย ก็จะทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับประโยชน์ด้วย

ดร.พิสิฐ ยังระบุอีกด้วยว่า ในมาตราดังกล่าว ที่ระบุว่า ทุก 3 ปีให้กระทรวงการคลังทบทวนนั้น ตนรู้สึกเป็นห่วงว่าจากวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ เมื่อถึงเวลา 3 ปี จะไม่มีใครทำอะไร และจะทำให้เรื่องดังกล่าวค้างอยู่ แต่หากมีการทบทวนที่ระบุไว้ว่า ให้นำดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้มาเฉลี่ยกันนั้น ตามปกติแล้วดอกเบี้ยเงินกู้จะสูงกว่าเงินฝาก อัตราที่ได้ย่อมต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร หากจะบอกว่าให้ธนาคารพาณิชย์กำหนดดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ ก็มองได้ว่าไม่น่าจะเป็นไปตามธรรมชาติของธุรกิจสถาบันการเงิน

สำหรับในมาตรา 4 ที่ระบุถึงเรื่องดอกเบี้ยผิดนัด 5% นั้น ดร.พิสิฐ ได้ตั้งคำถามว่าจะมีผลต่อการคิดดอกเบี้ยผิดนัดของบัตรเครดิตด้วยหรือไม่ เพราะบัตรเครดิตมีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยผิดนัดไว้ 16% และมีลูกค้าบัตรเครดิตส่วนหนึ่งถูกคิดดอกเบี้ยค่าบัตรเครดิตเนื่องจากผิดนัดชำระอยู่ด้วย ดังนั้นกฎหมายนี้จะทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับประโยชน์จากมาตรานี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งก็เป็นอีกกลุ่มที่มี
นิติกรรมเป็นสัญญาและระบุดอกเบี้ยไว้ชัดเจนและเนื่องจากกระทรวงการคลังจะมีการออก พรฎ. ในการปรับดอกเบี้ยขึ้นหรือลง จาก 3% อาจกลายเป็น 5-6% ตามภาวะตลาด จึงอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงกว่า 7.5% ที่ระบุไว้ในมาตรา 224 เดิม

ขณะเดียวกันทุกวันนี้ที่ประชาชนกู้เงินนอกระบบ ในอัตรา 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในอัตรา 5-6% แต่ในพรกนี้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่มีอัตรา 5% นั้น ก็เท่ากับว่าจะทำให้มีคนจำนวนมากต้องการผิดนัดชำระ เพราะเสียดอกเบี้ยน้อยกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ ดร.พิสิฐ ยังได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามทำในกฎหมายนี้ ความจริงแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็พยายามแก้ไขอยู่ โดยมีการออกประกาศ ธปท. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564โดยจะมีผลในเดือนนี้ ในเรื่องวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัด หรือการกำหนดเพดานดอกเบี้ยผิดนัดว่าไม่ให้เกินดอกเบี้ยปกติบวก 3% แต่กระทรวงการคลังกลับมาสำทับ ธปท. ว่าให้ทำได้ไม่เกิน 2% บวกกับดอกเบี้ยตามมาตรา7 ในอัตรา 3% รวมเป็น 5% จึงทำให้เกิดคำถามว่าผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งหาก พรก. ฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับสถาบันการเงินที่แบงก์ชาติกำกับดูแลอยู่ก็จะไม่มีความลักลั่นกัน ซึ่งลูกหนี้ที่กู้เงินก็จะไม่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ แต่ถ้าหากมีผลต่อสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของ ธปท. ก็จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติได้ ว่าสถาบันการเงินจะเรียกดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราใด

No widgets found. Go to Widget page and add the widget in Offcanvas Sidebar Widget Area.