สรุปเงื่อนไขจ่ายเงินเยียวยา นายจ้าง-ลูกจ้าง ร้านอาหาร-ไซต์งานก่อสร้าง ทั้งในและนอกระบบประกันสังคม



เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25)

โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้างร้านอาหารและไซต์งานก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ที่มีคำสั่งปิดแคมป์คนงาน และห้ามนั่งกินในร้านอาหาร ในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร ระยะเวลา 1 เดือน แบ่งออกเป็น ธุรกิจไซต์งานก่อสร้าง และธุรกิจร้านอาหาร ทั้งในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม ดังนี้

1. ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีลูกจ้าง จ่ายชดเชยกรณีเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท นอกจากนี้ยังได้ “เงินเพิ่มเติม” จำนวน 2,000 บาทต่อราย จากการสำรวจมีแรงงานในระบบส่วนนี้กว่า 690,000 คน แต่สำหรับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเฉพาะร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน จะไม่ได้รับเงินเพิ่มเติม 2,000 บาท ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน ระยะเวลา 1 เดือน

2. ผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ให้ดำเนินการลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม ซึ่งในช่วง 1 เดือนจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่อยู่ในระบบให้เข้าระบบได้สะดวก ซึ่งเมื่อเข้าระบบแล้ว ลูกจ้างจะได้รับเงินเยียวยาคนละ 2,000 บาท แต่จะไม่ได้เงินชดเชยร้อยละ 50 เนื่องจากจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน ส่วนกรณีนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างเช่นเดียวกัน

3. สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง สามารถขึ้นทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” ได้ภายใน 1 เดือนนี้ โดยทางกระทรวงมหาดไทยจะลงไปตรวจสอบ ซึ่งในส่วนนี้ ผู้ประกอบการก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทเช่นกัน

เบื้องต้น กรอบวงเงินที่รัฐบาลเตรียมไว้ทั้งหมด 7,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็นเงินกู้ 4,000 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท โดยต้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 29 มิ.ย. เห็นชอบในหลักการการเยียวยานี้ก่อน จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการจ่ายเงินเยียวยาต่อไป

ขณะที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสริมว่า ผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ก็จะมีข้อมูลในกลุ่มที่ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นถุงเงิน ซึ่งจะดำเนินการแบ่งเป็นสองแบบ คือ ถ้าผู้ประกอบการยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะเปิดให้มาขึ้นทะเบียน หลังจากนี้ ก็จะเข้าสู่มาตรการการเยียวยาต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ขอให้เข้าไปลงทะเบียนในแอพถุงเงิน เพื่อเข้าสู่โครงการคนละครึ่ง ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร และ เครื่องดื่ม จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 เช่นกัน โดยให้กระทรวงมหาดไทยไปสำรวจ ในการลงทะเบียนของผู้ประกอบการ โดยการจ่ายเงินกองทุนประสังคมทำได้ทันที แต่เงินเยียวยาอีก 2,000 ต้องให้ ครม.เห็นชอบ ภายในสัปดาห์หน้า

พร้อมกันนี้ กระทรวงแรงงานจะประสานสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยที่มีคนงานในสมาคมกว่า 1 แสนคน ซึ่งทางสมาคมจะดูแลเอง เพราะต้องการให้อยู่กับที่ไม่เกิดการเคลื่อนย้าย ย้ำกระทรวงแรงงานเดินหน้าตรวจเชิงรุก และกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง พร้อมทั้งได้ประสานโรงงานผลิตอาหารเพื่อสนับสนุนอาหาร ให้คนงาน เพื่อควบคุมการระบาดในกรอบ 1 เดือนนี้ ยอมรับมีแรงงานหลบหนีจากพื้นที่ควบคุม แต่ผู้ประกอบการต้องช่วยกันดูแล

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ :
————————-
#เรื่องเล่าเช้านี้ (Morning News)
วันที่ 29 มิถุนายน 2564
ติดตามความเคลื่อนไหวข่าวสารก่อนใครได้ที่นี่
ch3plus :
facebook :
Twitter :
YouTube :

No widgets found. Go to Widget page and add the widget in Offcanvas Sidebar Widget Area.